Bioplastic (พลาสติกชีวภาพ)
พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) คือ พลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร (Biobased) หรือจากน้ำมันปิโตรเลียม (Petrobased) โดยพลาสติกชีวภาพเหล่านี้มีลักษณะคล้ายพลาสติกทั่วไป สามารถนำมาหลอม และผลิตด้วยกระบวนการขึ้นรูปตามปกติ ด้วยเครื่องจักรทั่วไปที่อาจมีการปรับแต่งบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสม สำหรับพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรนั้นผลิตจากกระบวนการหมัก เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นโมโนเมอร์ (Monomer) แล้วจึงนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกต่อไป ปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพได้แก่ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง
ประเภทของ Bioplastics พลาสติกชีวภาพ หมายรวมถึง พอลิเมอร์ที่ใช้วัสดุชีวภาพ ซึ่งมีคุณสมบัติและการใช้งานที่เป็นเอกลักษณ์ และด้วยการคิดค้นใหม่ ๆ จึงทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยพลาสติกชีวภาพมักถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มหลัก ดังนี้
- พลาสติกที่ผลิตจากวัสดุชีวภาพ (Biobased) แต่ไม่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Non-Compostable) - อาทิ โพลีเอสเตอร์ชีวภาพ โพลีเอทิลีน (PE) โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) โพลีเอไมด์ (PA) บางชนิด และโพลียูรีเทน (PUR)
- พลาสติกที่ผลิตจากวัสดุชีวภาพ (Biobased) และสามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable) – อาทิ ไบโอโพลีบิวทิลีนซัคซิเนต (BioPBS)
- พลาสติกจากปิโตรเลียม (Petrobased) แต่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable) - อาทิ โพลีบิวทิลีนซัคซิเนต (PBS)
ประโยชน์ของ Bioplastics วัตถุดิบที่ใช้นั้นเป็นแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และลดการสร้าง Green House Gas, วงจรชีวิตสั้น สามารถสลายตัวได้เองทางชีวภาพ จึงเหมาะกับการใช้เป็น Single-Use Ware
Biobased คืออะไร ? คือพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้ แทนการใช้สารตั้งต้นจากผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่อาจไม่สามารถแตกตัวและสลายตัวทางชีวภาพได้ในทุกกรณี (เช่น Bio-PET, Bio-PP)
-
Bio-PP: จัดเป็นพอลิเมอร์ประเภทเทอร์โม-พลาสติกที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ แต่ยังมีการใช้ในงานอื่น ๆ เช่น สิ่งทอ ขวด สติกเกอร์ลูกบาศก์ และธนบัตรพอลิเมอร์ เป็นต้น โดยความแตกต่างระหว่าง Bio-PP และ PP คือ การจัดเรียงตัว ในของ Bio-PP จะจัดแบบไอโซแทกติก (Isotactic) ส่งผลต่อคุณสมบัติของ Bio-PP กล่าวคือ สามารถทนทาน ยืดหยุ่น และสามารถทนต่อแรงกระแทกได้ดี ทำให้เหมาะสำหรับการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์
-
Bio-PET: มีคุณสมบัติเหมือน PET คือ มีสีใส ยืดหยุ่นได้ดี ป้องกันการซึมผ่านของความชื้นได้ดี และเป็นฉนวนไฟฟ้า ประยุกต์ใช้งานด้านบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวดน้ำดื่ม ถาดพลาสติก บรรตุภัณฑ์และสิ่งของใช้งานพลาสติก เป็นต้น Bio-PET สามารถสังเคราะห์ได้จากพืชหรือวัตถุดิบทางธรรมชาติผ่านกระบวนการหมัก
ความต้องการของตลาดโลก
ปัจจุบันพลาสติกชีวภาพมีการผลิตมากกว่า 359 ล้านตันต่อปี คิดเป็นประมาณ 1% ของพลาสติกทั้งหมด ด้วยความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ตลาดของพลาสติกชีวภาพจึงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมความหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก กำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.11 ล้านตันในปี 2019 แตะที่ตัวเลขประมาณ 2.43 ล้านตันในปี 2567 เนื่องจากพลาสติกชีวภาพถูกนำมาใช้เป็นทางเลือกแทนวัสดุพลาสติกทั่วไปได้เกือบทุกชนิด และทุกการใช้งานที่เกี่ยวข้อง และในอนาคตเมื่อวัสดุพลาสติกชีวภาพสามารถหาซื้อได้ในเชิงพาณิชย์ กำลังการผลิตจะยิ่งมีความหลากหลายมากขึ้นอีกภายใน 5 ปีข้างหน้า
อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย
ในปัจจุบันการใช้พลาสติกชีวภาพของโลกนั้น มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกระแสความตระหนักรู้ ถึงการใช้พลาสติกจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมซึ่งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายในธรรมชาติได้ยาก ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงมีนโยบายมากมายที่ออกมาสนับสนุน BCG Economy Model เพื่อให้เศรษฐกิจโลกเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต
เนื่องจากในส่วนของอุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ประเทศไทยมีความได้เปรียบเพราะเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญ และในอุตสาหกรรมกลางน้ำ คือการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพยังพบการลงทุนอยู่บ้าง แต่สำหรับอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือการใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆยังพบได้น้อยมากในประเทศไทย
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้กล่าวถึงสถานการณ์พลาสติกชีวภาพในไทยว่า “ไทยมีจุดแข็งในการผลิตพลาสติกชีวภาพมาก เพราะมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบของพลาสติกรายสำคัญของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่สร้างมูลค่า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (2560-2579) และที่สำคัญ หากมีการลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในไทย โดยใช้น้ำตาลจากอ้อยและแป้งจากมันสำปะหลังมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ จะส่งผลให้น้ำตาลจากอ้อยและแป้งมันสำปะหลังดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 3 เท่า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจแปรรูปเม็ดพลาสติก และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกร และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีรายได้เพิ่มขึ้น”